ดินเสื่อม วิกฤตการณ์ ที่น่าเป็นห่วง

สภาพดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์วิกฤติการณ์ที่น่าเป็นห่วง


                    ถ้าเปรียบเทียบการพัฒนาการปลูกพืช เหมือนกับการพัฒนาคนในยุคของวัตถุนิยม ซึ่งเน้นการพัฒนาทางร่างกายมากกว่าการพัฒนาด้านจิตใจ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากร่างกายเป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้เป็นรูปธรรม ในขณะที่จิตใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ยากที่จะเข้าใจ ฉันใดก็ฉันนั้นการพัฒนาด้านการผลิตพืช นักพัฒนาและเกษตรกรมักจะให้ความสำคัญในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเป็นรูปธรรม คือ ต้น ดอก ใบ ผล ของที่อยู่เหนือดินนั่นเอง ส่วนสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้พืชเจริญเติบโตงอกงามได้ดี คือ ความอุดมสมบุรณ์ของดิน ซึ่งมองไม่เห็น ยากที่จะเข้าใจเปรียบเสมือนลักษณะของจิตใจนั้น ขาดการพัฒนา ดูแลและเอาใจใส่เท่าที่ควร ความสำคัญในการพัฒนาด้านนี้ ทั้งจากทางภาครัฐและเกษตรกรเอาถูกละเลยอย่างน่าเป็นห่วง จากประสบการณ์ที่ได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรพบว่า ถ้าถามถึงลักษณะต้นพืชที่เขาปลูกบนดิน เกษตรกรจะตอบได้อย่างมั่นใจในทุกช่วงของการเจริญเติบโต แต่พอถามถึงดินที่ปลูกพืชนั้นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง ความอุดมสมบูรณ์ดีมั้ย ดินมีปัญหาหรือไม่ ดินของท่านสุขภาพดีหรือกำลังป่วย (มีปัญหาและความอุดมสมบุรณ์ของดินต่ำ) คำถามลักษณะเช่นนี้มักจะได้คำตอบแบบเดียวกันจากเกษตรกรว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก จากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรพอจะรู้ว่าดินของตนเองมีปัญหา ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ โดยการสังเกตจากผลผลิตพืช ดูจากจำนวนปุ๋ยเคมีที่ใส่เพิ่มมากขึ้นแต่ผลผลิตเท่าเดิมหรือลดลง ดูจากสภาพภายนอกทางกายภาพ เช่น สภาพดินจับตัวกันแน่นแข็ง ดินดาน การระบายน้ำไม่ดี ฯลฯ ลักษณะปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่เกษตรกรส่วนมากก็ยังไม่มีความพยายามหาทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งนี้อาจจเนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ไม่มีแผนการแก้ปัญหาของเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตราบใดที่ตัวเกษตรกรยังมองเห็นพืชที่ตนเองปลูกนั้นยังให้ผลผลิตได้อยู่ และคิดว่าการเพิ่มหรือเลือกใช้ปุ๋ยเคมี อาหารเสริม และฮอร์โมน หลากหลายที่มีขายในตลาดจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดธาตุอาหารของพืชได้จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดินในเชิงระบบเพื่อยกระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สูงขึ้น

                    Dr.Ernst W Mutert จากสถาบัน Potash and Phosphate แห่งเอเชีย ได้กล่าวถึงสถานการณ์การสูญเสียธาตุอาหารจากดิน และการเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ของดินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยไว้อย่างน่าเป็นห่วง ผลการทดลองการสูญเสียธาตุอาหารจากดินในการปลูกพืชในหลายประเทศพบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น การทดลองปลูกมันสำปะหลังที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ในการปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ ใน 1 ฤดูปลูก พบว่าดินที่ปลูกมันสำปะหลังมีการสูญเสียธาตุอาหารหลักของพืช คือ ธาตุไนโตรเจน ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุโปแตกเซี่ยม ไป 9.7 , 4.17 และ 9.66 กิโลกรัมต่อไร่ โดยสูญเสียไปในรูปของผลผลิต คือหัวมันสำปะไลังและต้นมันสำปะหลังที่นำออกไปจากแปลงทดลอง Ernst พยายามอธิบายถึงความสมดุลระหว่างปริมาณธาตุอาหาร (เช่นปุ๋ย) ที่ใส่ลงไปในดิน (Input) กับปริมาณธาตุอาหารที่ติดออกไปกับผลผลผลิตพืชและเศษวัสดุพืชต่างๆ ที่นำออกไปจากดิน (Output) สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในความเห็นของเขาก็คือ ความสมดุลของธาตุอาหาร (Nutrient Balance) ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ในรูปของ Output ที่เอาออกไปจากดินมีมากกว่า Input หลายเท่านัก ประกอบกับการขาดความรู้ ความเข้าใจและขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งทิศทางและนโยบายการแก้ปัญหาที่จริงจังและเป็นรูปธรรมทางด้านนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย Ernst ได้สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกทิศทาง วิกฟติการณ์การสูญเสียธาตุอาหารจากดินและการเสื่อมความอุดมสมบุรณ์ของดินจะส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาการผลิตพืช และการพัฒนาการเกษตรในภาพรวม อย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้นี้

                    ดินของประเทศไทยมีปัญหาจริงหรือ? ดร.ณรงค์ ชินบุตร จากกรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวในการสัมมนานักวิชาการดินและปุ๋ยภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ว่าในประเทศไทยนั้นดินที่เหมาะสมในการปลูกพืชมีประมาณ 68 ล้านไร่ แต่ในดินที่เหมาะสมทั้ง 68 ล้านไร่ นั้นเกือบทั้งหมดเป็น ดินขาดความอุดมสมบุรณ์และเสื่อมสภาพ กรมพัฒนาที่ดินได้บริการตรวจดินให้กับเกษตรกรจังหวัดต่างๆ จากปี 2534-2540 จำนวน 50,000 ราย พบว่าดินส่วนใหญ่ขาดความอุดมสมบูรณ์สภาพทางเคมีและกายภาพไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชจำเป็นต้องแก้ไขและปรับปรุง ดินเสื่อมคุณภาพที่พบสรุปได้ดังนี้คือ

                            1. กว่าร้อยละ 90 ของเกษตรกร 50,000 ราย เป็นดินที่ขาดอินทรีย์วัตถุ (ปริมาณอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1.5%) พบทุกภาคของประเทศไทย ที่ขาดมากโดยเฉลี่ยอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1% ส่วนใหญ่จะเป็นดิ นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                            2. กว่าร้อยละ 60 ของเกษตรกร ดินมีความเป็นกรดในระดับที่ต้องแกไ้ขปรับสภาพกรดในดิน (pH ต่ำกว่า 5.5) และนอกเหนือจากพื้นที่ที่เป็นดินเปรี้ยวแล้วในพื้นที่ที่ดินขาดอินทรีย์วัตถุอย่างรุนแรงจะพบว่าดินเป็นกรดจัด (pH 3-4.0) ซึ่งพบกระจายทั่วไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                            3. ดินส่วนใหญ่ขาดธาตุอาหารหลักของพืช โดยทุกพื้นที่ขาดธาตุไนโตรเจน ร้อยละ 90 ดินของเกษตรกรขาดธาตุฟอสฟอรัส และไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขาดธาตุโปแตกเซี่ยม

                            4. ปัญหาที่พบอีกอย่างหนึ่งจากการตรวจดินเกษตรคือ เกษตรกรบางพื้นที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป ผลตกค้างของปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพ หรือที่เรียกว่าดินเสีย ทำให้พืชเจริญเติบโตไม่ดีเกิดกรดในดินมากขึ้นและดินแข็งจนไม่สามารถปลูกพืชได้อีกต่อไป

                    เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว งานดินและปุ๋ย กลุ่มงานพัฒนาการผลิต สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก ได้ดำเนินกิจกรรมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและพืชในปี 2542 โดยได้มีการเก็บตัวอย่างดินของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการใน 4 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อวิเคราะห์เบื้องต้นผลการวิเคราะห์ดินพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ร้อยละ 92.7 มีค่าอินทรีย์วัตถุต่ำมาก (0.5-1.0) ในส่วนของธาตุอาหารหลักของพืชพบว่า เกษตรกรจำนวน ร้อยละ 83 มีค่าฟอสฟอรัสในดินต่ำถึงต่ำมาก โดยมีเกษตรกรมีค่าฟอสฟอรัสต่ำกว่า (น้อยกว่า 7 ppm) ถึงร้อยละ 67.3 สำหรับค่าของโปแตสเซี่ยมนั้น พบว่า เกษตรกรร้อยละ 95 มีค่าโปแตสเซี่ยมในดินต่ำถึงต่ำมาก โดยเกษตรกรมีค่าโปแตสเซี่ยมในดินต่ำมาก (0-30 ppm) ร้อยละ 90 ส่วนในเรื่องของค่าปฏิกิริยาของดิน (pH) นั้นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 91.0 มีดินเป็นกรดจัด และในจำนวนนี้เกษตรกรมีดินเป็นกรดรุนแรง (pH น้อยกว่า 4.6) ถึงร้อยละ 60 จากข้อมูลการวิเคราะห์ดินจะเห็นได้ว่าสภาพดินส่วนใหญเป็นกรดรุนแรง มีอินทรีย์วัตถุต่ำมากรวมทั้งธาตุอาหารหลักที่มีอยู่ในดินก็ต่ำมากเช่นเดียวกันซึ่งสามารถประเมินได้ว่าดินมีปัญหาและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์แก้ไขที่เร่งด่วนและจริงจัง

                    จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าผลการพัฒนาการปลูกพืชและการพัฒนาการเกษตร ที่เน้นหนักการให้ได้มาซึ่งผลผลิตสูงสุดโดยไม่ได้คำนึงมากนักถึงระบบของการผลิตพืชทั้งหมดในลักษณะองค์รวม หรือไม่ให้ความสำคัญมากนักในสการพัฒนาการปลูกพืชแบบยั่งยืน ก่อให้เกิดการเสียสมดุลในระบบอย่างเห็นได้ชัดเราอาจจะได้ผลผลิตจากพืชผลมากมายแต่ในทางกลับกันเราก็กำลังสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินในทุกวินาทีอย่างน่าใจหาย เมื่อดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ถึงจุดวิกฤตแล้ว ก็จะส่งผลกลับต่อผลผลิตพืชในทางลบอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ในยุค ค.ศ.2000 นี้ ถ้าเรายอมรับว่าการพัฒนาด้านร่างกายควรจะควบคู่กับการพัฒนาทางด้านจิตใจ ฉันใด เราคงจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับความอุดมสมบูรณ์กของดินในประเทศของเราอย่างจริงจัง ฉันนั้น ไม่เช่นนั้นการพัฒนาการปลูกพืชก็คงไม่ต่างจากความพยายามที่จะพัฒนาร่างกายของคนที่มีจิตใจเสื่อมง่อย เพื่อให้มีความสุขสมบูรณ์ในการดำรงชีวิตในโลกแห่งความวุ่นวายเช่นนี้


วิทยา พลเยี่ยม

สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 

 

Leave a comment