เกียรติภูมิ (คัดลอกเขามา) ชอบนะ

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=nthisreal&group=3

เกียรติของเรา ไม่ต้องมีใครมาตีความ

อ่านแล้วชอบจัง โดยเฉพาะคำตอบสุดท้ายน่ะ

ถาม: ในความคิดเห็นของคุณ คุณว่าเด็กจุฬาฯ สมัยคุณอาจินต์ กับเด็กจุฬาฯ สมัยคุณ มีความคิดอ่านแตกต่างกันแค่ไหน
จิระ: ผมว่าคงต้องแตกต่างกันมากๆ เพราะในยุคของคุณอาจินต์ คำว่าจุฬาฯ คำว่ามหาวิทยาลัย ดูเป็นสิ่งสำคัญมาก การที่เด็กคนหนึ่งเข้ามหาวิทยาลัยได้ เข้าจุฬาฯ ได้ เขาต้องเป็นคนไม่ทั่วไป แน่นอนต้องเรียนเก่งมาก และสูงส่งมากๆ มีตอนหนึ่งในเรื่องเหมืองแร่ คุณอาจินต์เล่าว่า มีรุ่นพี่เดินทางมาหาที่เหมือง และบอกแกว่า คุณลาออกจากงานเหมืองเถอะ เพราะมันจะทำให้เกียรติของจุฬาฯ ลดต่ำลง คุณอาจินต์ตอบไปว่า ถ้ามันทำให้เกียรติจุฬาฯ ลดต่ำลงจริงๆ ผมจะลาออกเดี๋ยวนี้เลย แต่ว่า ถ้ามันทำให้เกียรติของผมคนเดียวลดต่ำลง ผมไม่ลาออกหรอก เพราะเกียรติของผมหมดไป ตั้งแต่วันที่โดนรีไทร์ออกมาจากจุฬาฯ แล้ว นี่แสดงให้เห็นชัด ว่าความรู้สึกต่อมหาวิทยาลัยสมัยนั้น มันยิ่งใหญ่แตกต่างจากสมัยนี้เยอะมาก

ถาม: ประเด็นจะใกล้เคียงกับคนสมัย 14 ตุลาไหม ที่เขาตั้งคำถามกับคุณค่าของสถาบันการศึกษา และใบปริญญา หรือเปล่าครับ
จิระ: แตกต่างกันนะ ผมว่ายุค 14 ตุลา นักศึกษาจะแสวงหาวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาว แนวทางการมีชีวิตร่วมกันในสังคม ระบบการเมืองที่พวกเขาใฝ่ฝัน เพราะว่าการเมืองตอนนั้นเป็นเผด็จการ เทียบกับสมัยคุณอาจินต์ ผมว่าเด็กนักศึกษาสมัยนั้น แสวงหาเกียรติยศในตัวเอง สิ่งที่หายไปในตอนโดนรีไทร์ แกอยากไปกอบกู้ความภาคภูมิใจในตัวเอง คุณค่าของตัวเอง

ถาม: เหมือนกับว่า เด็กนักศึกษาสมัยคุณอาจินต์ แสวงหาทางแก้ปัญหาระดับส่วนตัว แต่เด็กนักศึกษาสมัย 14 ตุลาฯ สนใจปัญหาระดับสังคมใช่ไหม
จิระ: ทำนองนั้นนะ และเด็กสมัยคุณอาจินต์ ก็กลายมาเป็นพื้นฐานให้กับคนสมัย 14 ตุลาฯ ถ้าคนสมัย 14 ตุลาฯ ไม่เคยได้รับรู้ ไม่เคยได้ยิน ปัญหาของคนรุ่นคนอาจินต์ เขาก็คงยังงงๆ ไม่รู้ว่าจะแสวงหาอะไร แสวงหาไปทำไม คือมันส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ สิ่งที่คนรุ่นคุณอาจินต์ค้นพบ คือเกียรติยศอยู่ที่การทำงาน คุณอาจินต์เขียนไว้ในตอนหนึ่ง ว่าผมต้องทำงานให้ดี เพื่อพิสูจน์ว่า ผมไม่ใช่กาฝากของที่นี่ คือแม้แต่ในหน่วยสังคมหนึ่ง ที่แกเข้าไปเป็นกรรมกร แกยังต้องทำงานเพื่อให้มีคุณค่า ทันทีที่แกผ่านตรงนี้ไปแล้ว และกลับมาสู่ชีวิตเดิมในกรุงเทพฯ แกก็ไม่รู้สึกว่าชีวิตด้อยค่าอีกต่อไป แกเอาประสบการณ์จากเหมืองแร่ มาเขียนได้อย่างเชิดหน้าชูตา เขียนบอกทุกคน ว่าแกไปเป็นกรรมกรมา ผมว่าเมื่อเขาได้ผ่านเลยจุดที่จุฬาฯ ยอมรับเขาไปแล้ว เขาจึงจะไปเริ่มแสวงหาคุณค่าใหม่ ชีวิตใหม่

ถาม: เป็นไปได้ไหม ว่าคุณอาจินต์เจอเกียรติของเขา เมื่อเขามาเป็นนักเขียน คือเขาเขียนหนังสือจนดัง จึงเกิดความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไปทำงานหนักที่เหมืองแร่หรอก
จิระ: ถ้าเขาไม่ได้ไปทำงานเหมือง เขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะเขียนอะไรไม่ใช่เหรอ ผมนับถือตอนที่เขาตัดสินใจไปเป็นกรรมกรที่เหมือง มันเคยมีกฎหมายของไทยเรา ว่าถ้าผู้ชายคนไหน ไปจีน ไปชวา ไปพังงา อะไรประมาณนี้แหละ แล้วหายไป 3 ปี ไม่กลับมา ให้เมียแต่งงานใหม่ได้เลย นี่แสดงให้เห็นว่า พังงามันไกลมากเลยนะ สมัยนั้นน่ะ ไกลขนาดว่าเมียไม่ต้องรอแล้ว ไม่มีทีวี วิทยุ จดหมายนี่เดือนหนึ่งไปรับมาทีหนึ่ง

ถาม: ถ้าคุณอาจินต์ไม่โด่งดัง ถ้าเขาเป็นแค่คนที่ไปทำงานเหมือง แล้วกลับมาทำงานสถานีโทรทัศน์คนหนึ่งเท่านั้น เขาจะมีเกียรติไหมครับ
จิระ: ผมคิดในทางตรงข้าม คือถ้าเขาไม่ได้ไปทำงานเหมือง เขาจะไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อีกเลย หลังจากโดนรีไทร์แล้ว ประเด็นจริงๆ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าทำงานเหมืองนะครับ ประเด็นคือ เขาถูกรีไทร์ออกมา และเขาต้องค้นหาตัวตนกลับมา คนอื่นที่ทำงานเหมืองอยู่ด้วยกัน อาจจะไม่ได้รู้สึกแย่เท่ากับคุณอาจินต์ เพราะชีวิตของคนพวกนั้น ไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว เขาต้องเป็นกรรมกรในเหมืองอยู่แล้ว แต่คุณคิดดู เด็กนักศึกษาที่โดนรีไทร์ แล้วต้องไปทำงานที่นั่น เขาต้องต่อสู้กับตัวเองแค่ไหน แกถึงกับเขียนว่า ข้าพเจ้าได้ฆ่าวิศวกรไปคนหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าก้ได้สร้างนักเขียนขึ้นมาทดแทนคนหนึ่ง

ถาม: แล้วคุณคิดว่าเกียรติจริงๆ ของคนเราอยู่ที่ไหน
จิระ: อยู่ที่วินาทีที่เขาเห็นว่าตนเองมีคุณค่า ไม่ใช่คุณค่าที่มาจากเงินในบัญชีธนาคาร ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ หรือใบปริญญาจากเมืองนอก

ถาม: คุณว่าจำเป็นไหม ว่าเกียรติของเรา ขึ้นอยู่กับสายตาคนอื่น การยอมรับของคนอื่น
จิระ: ผมว่าไม่ ผมว่ามันจะมีวินาทีที่เราได้ดูผลงานของตนเอง แล้วรู้สึกว่ามันดี วินาทีนั้นมันยิ่งใหญ่กว่าตอนที่มีคนมาพูดชมอีกนะครับ อย่างนักเขียนคนหนึ่ง เขียนงานออกมาแล้วได้รับการตีพิมพ์ ผมว่าเขาคงมีความสุขกับการนำมันขึ้นมาอ่านอีกรอบ แล้วรู้สึกว่า เออ! นี่เราเขียนดีเว้ย! วินาทีนั้นแหละ ที่เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า ไม่ต้องไปรอให้ใครมาวิจารณ์งานของเรา ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้

ถาม: ก็เพราะคุณดังแล้ว เป็นที่ยอมรับแล้ว คุณเลยพูดได้ ว่าเกียรติอยู่ที่ตัวเราเอง แต่สำหรับคนอื่น ที่เขาไม่ได้ดังแบบคุณ เขาคงอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นอยู่
จิระ: ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองดังเลย ไม่เคยมีเรื่องนี้ในความรู้สึกผม จริงๆ นะ ผมรู้สึกแค่ว่า ทำงานออกมาดีแล้วมีความสุข อย่างสมัยเรียน ตอนที่เขียนงานส่งอาจารย์ ครั้งไหนเขียนงานดี ผมก็รู้สึกดี รู้สึกว่ามันดี เอามาอ่านเอง ยังชมตัวเองเลย ว่าเฮ้ย! กูเก่งเหมือนกันเว้ย! นี่แหละ คือการเห็นคุณค่าของตนเอง

ถาม: แล้วเราจะตัดสินคนอื่นได้ไหม ว่าเขาเป็นคนมีเกียรติ หรือเขาเป็นคนไม่มีเกียรติ
จิระ: ยากครับ เกียรติมันไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นชัดๆ หรอก มันเป็นเรื่องภายในส่วนตัวของเขา

ถาม: สมมติว่าผมมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาชอบมาบ่นให้เห็นฟัง ว่าฉันน้อยเนื้อต่ำใจ ฉันไม่เห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว แบบนี้แสดงว่าเพื่อนคนนี้กำลังขาดเกียรติใช่ไหมครับ
จิระ: (หัวเราะ) ถ้าเขาตระหนักถึงตัวเองขนาดนั้น คิดลึกซึ้งขนาดนั้น ถ้าเขาบ่นได้อย่างมีหลักการขนาดนั้น ผมว่าเขายังมีเกียรติเหลืออยู่นะ

เอามาจากเว็บไซต์เค้าน่ะ

Leave a comment