โปแตช ข้อดี ข้อเสีย การทำเหมือง การผลิต และการควบคุมผลกระทบ (บทความของคุณหมอ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ)

โปแตช…..เจ้าเอย
ข้อมูลสื่อ
File Name : 238-009
วารสารคลินิก เล่ม : 238
เดือน-ปี : 10/2547
คอลัมน์ : อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์
นักเขียนหมอชาวบ้าน : พญ.ฉันทนา ผดุงทศ
Fri, 01/10/2547 – 00:00 — somsak
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาหลายแห่งแล้ว ตั้งแต่ปัญหาแคดเมียมที่อำเภอแม่สอด เหมืองทองที่อำเภอวังทรายพูน โรงไฟฟ้าที่อำเภอแม่เมาะ ปัญหาตะกั่วที่อำเภอทองผาภูมิ และสารหนูที่ร่อนพิบูลย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่. บทความชุดอาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนี้ ขอปิดประเด็นเรื่องของ ” เหมือง ” กับสุขภาพด้วยเหตุการณ์น้องใหม่ในวงการ ที่อาจจะขยายเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่น่าจับตาเหมือนกับกรณีอื่น.

ความเป็นมา
ในสมัยกว่า 20 ปีก่อนนี้ รัฐบาลได้วางแผนในการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย และได้มีการดำเนินการทำเหมืองส่วนหนึ่งในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ. อย่างไรก็ตามแหล่งแร่โปแตสที่มีขนาดใหญ่และน่าจะให้ผลได้นานกว่าอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ลงทุนชาวต่างชาติและมีแนวโน้มจะเปิดดำเนินการในเวลาไม่นานนักเนื่องจากกฎหมายที่มีผลต่อการทำเหมือง* ได้รับการปรับแก้ในปี พ.ศ. 2545 หลังความพยายามผลักดันของกลุ่มผู้ลงทุนมาเป็นระยะเวลานาน.

ขณะเดียวกันช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ต่อต้น ปี พ.ศ. 2546 ประชาชนในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวคัดค้านการเตรียมการสร้างเหมืองโปแตช ที่จังหวัดอุดรธานี และสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวในแง่ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลที่การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) ไม่ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment-HIA).

ในมุมมองของนักวิชาการที่ทำงานด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อม ข่าวนี้มีประเด็นที่น่าติดตามเนื่องจากไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการคัดค้านโครงการใหญ่ระดับชาติขนาดนี้ในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ อันหมายถึงโอกาสในการที่จะยุติการดำเนินการได้หากมีหลักฐานเพียงพอว่าก่อความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และ/หรือสุขภาพ และที่น่าสนใจคือ กรณีนี้จะก่อความขัดแย้งรุนแรงเช่นกรณีโรงไฟฟ้าหินกรูด บ่อนอก หรือท่อแก๊สที่อำเภอจะนะ ที่มีมาก่อนหน้านั้นหรือไม่.

อุดรธานี 2546
จากการสืบค้นข้อมูล การเข้าเยี่ยมพื้นที่และการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในช่วงกลางปี พ.ศ. 2546 ทำให้พอจะสรุปได้ว่า พื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอเมืองและกิ่งอำเภอหนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี (ตำบลโนนสูง ตำบลนาม่วง ตำบลหนองไผ่ และตำบาลห้วยสามพาด) เป็นแหล่งแร่โปแตชที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีปริมาณกว่า 300 ล้านตัน สามารถผลิตโปแตชได้ 2 ล้านตันต่อปี. นั่นคือหากได้สัมปทานจะสามารถผลิตแร่ได้อีกนานทีเดียว ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มจะให้สัมปทานครั้งนี้นานถึง 22 ปี.

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าแร่โปแตชคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร แร่โปแตชหรือ Potash ที่ว่านี้มีชื่อทางเคมีว่าโพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride) จัดในกลุ่มเกลืออนินทรีย์ (inorganic salt) ประกอบ ด้วยสารเคมี 2 ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (สูตรเคมี KCl) ในปริมาณร้อยละ 95-100 และโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่เราคุ้นเคย (สูตรเคมี NaCl) ในปริมาณร้อยละ 0-5. ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของแร่โปแตชคือ การนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ย** เรียกได้ว่าผลประโยชน์จากการทำเหมืองโปแตชจะทวีค่าขึ้นอีกมหาศาลด้วยการเป็นสารนำเข้าของการทำปุ๋ยนี่เอง.

โดยทั่วไปองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งระบุว่าโปแตชเป็นสารที่ไม่มีพิษภัยอะไรทั้งกับมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป. อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการสัมผัสสารนี้ ผลเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดการระคายดวงตาหรือผิวหนังได้ รวมทั้งถ้าสูดหายใจหรือกินเข้าไปในปริมาณมากๆ ในคราวเดียวก็อาจระคายทางเดินหายใจหรือก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้. อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับเข้าร่างกายปริมาณมาก โปแตชก็จะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ทำอันตรายต่อไตหรือระบบการไหลเวียนเลือดในร่างกาย.

สำหรับผลในระยะยาวนั้น ไม่พบว่าโปแตชมีผล ต่อสุขภาพเรื้อรังในคนที่แข็งแรง เนื่องจากผลการวิจัย ไม่พบว่าเป็นสารก่อมะเร็งหรือทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไต ควรลดการสัมผัสสารนี้. กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าโปแตชเป็นสารที่อาจเรียกได้ว่าปลอดภัย (generally recognized as safe) เนื่องจากไม่ก่ออันตรายถ้าใส่ในอาหารภายใต้กระบวนการผลิตที่ดี (GMP-Good Manufacturing Practice).

ท่านผู้อ่านน่าจะสงสัยว่าแล้วประเด็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ประชาชนชาวอุดรธานีเขาเป็นห่วงกันคือเรื่องอะไร?
ผลต่อสุขภาพ?
เอกสารของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขององค์การสหประชาติ1 ระบุว่า การทำเหมืองโปแตชทำได้ 2 แบบ คือ เหมืองบนผิวดินกับเหมืองใต้ดิน.

เหมืองใต้ดินทำในบริเวณแหล่งน้ำจืดที่มีเกลือปนอยู่เยอะ เช่น แถบทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) โดย ใช้แสงอาทิตย์ทำให้น้ำระเหยจนเกลือตกผลึกเข้มข้น. ขณะที่เหมืองใต้ดินทำบริเวณที่มีแหล่งแร่ด้วยการ เจาะอุโมงค์ใต้ดินสลับกับการเว้นผนังไว้ให้เป็นเสาค้ำยัน (เพื่อกันอุโมงค์ถล่ม) โดยใช้เครื่องเจาะที่มีหัวเจาะขนาดใหญ่ในการทะลุทะลวงชั้นหินลงไปถึงตัวแหล่งแร่ที่ความลึกระหว่าง 400-1,000 เมตร. จากนั้นจะต้องมีการลำเลียงหินที่มีแร่ขึ้นมาบนผิวดินเพื่อย่อยและแต่งจนได้เป็นโปแตช. ขั้นตอนหนึ่งของการแต่งแร่นี้ทำให้มี” ของเสีย” เป็นเกลือแร่ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก เรียกว่า “หางเกลือ ” ซึ่งในการทำเหมืองที่จังหวัดอุดรธานีนี้มีการคาดการณ์ว่ากองเกลือทิ้งนี้จะสูงขนาดตึก 16 ชั้นบนสนามฟุตบอลทีเดียว.

เอกสารชุดเดียวกันนี้ได้สรุปด้วยว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองโปแตชนี้อาจแบ่งได้เป็น ผลกระทบต่ออากาศ น้ำ ดิน และสังคม. ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้มีผลกระทบมากหรือน้อยที่สำคัญมาก ได้แก่ วิธีในการขุดเจาะ กระบวนการย่อยและแต่งแร่ การทิ้งหางเกลือ ปริมาณการขุดเจาะ และระยะห่างของเหมืองจากชุมชน รวมทั้งตัวแปรที่สำคัญรองลงมา ได้แก่ ลักษณะของหินแร่ ชนิดของผิวดินที่ปกคลุมแร่อยู่ (เลน ทุ่งนา ภูเขา) ภูมิอากาศ ระบบ นิเวศโดยรอบ.

ผลกระทบต่ออากาศเกิดจากฝุ่น ก๊าซ และไอระเหยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอาจพบก๊าซมีเทนจากแหล่งใต้ดินรั่วซึมออกมาซึ่งทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์และมีเทน จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกมีผลทำให้โลกร้อนขึ้น.

ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเกิดจากการกัดเซาะ หน้าดินบริเวณที่ขุดเจาะและการปนเปื้อนของน้ำเค็ม นอกจากนั้นกระบวนการแต่งแร่ต้องใช้น้ำปริมาณมากจนอาจทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน จนระบบนิเวศอาจถูกรบกวนและมีปัญหาแย่งแหล่งน้ำกับชาวบ้านหรือผู้ประกอบการอื่น.

ผลกระทบต่อดินเกิดจากการขุดเจาะดินและดินถล่มภายหลังการขุดเจาะ ที่สำคัญมาก คือ การขุดเจาะทำให้ต้องหยุดการเพาะปลูก อาจมีผลกระทบ ต่อระบบน้ำในดิน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งอาจกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านด้วย.

ผลกระทบทางสังคมอาจเกิดจากการที่สภาพผิวดินเปลี่ยนไป กล่าวคือ บริเวณที่ขุดเจาะ จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ สัตว์ที่เคยอาศัยต้องย้ายถิ่น ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน. นอกจากนั้นเสียงและความสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะหรือระเบิดก็จะมีผลทำให้ชาวบ้านรู้สึกรำคาญด้วย.

สรุปได้ว่าโปแตชไม่ได้ก่อพิษต่อร่างกายโดยตรงเทียบกับสารเคมีอื่น เช่น ยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักแต่ผลกระทบจะเกิดทางอ้อมจากการปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และดินที่กล่าวมา. รวมทั้งประเด็นการแย่งแหล่งน้ำและทิ่ดินทำกิน ซึ่งถ้าประเมินด้วยมุมมองของนักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาแล้ว ผลกระทบเชิงสังคมเหล่านี้สำคัญและเยียวยาได้ยากกว่าผลต่อสุขภาพทางกายเสียอีก.

คำถามที่ค้างคา
การเข้าเยี่ยมพื้นที่ที่จะทำเหมืองในช่วงกลางปี พ.ศ. 2546 ทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านกำลังรับรู้ข้อมูลความเสี่ยงได้ต่างกัน โดยพบว่า หมู่บ้านในพื้นที่ระบุตนเองชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือคัดค้านการทำเหมืองสังเกตได้จากสีของธงผ้าที่ปักหน้าหมู่บ้านถ้าเป็นกลุ่มสนับสนุนจะปักธงสีแดง ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์หรือคัดค้านจะปักธงสีเขียว (กว่าจะจำได้เล่นเอาผู้เขียนเวียนศีรษะ). และการสอบถามข้อมูลในระยะต่อมาจนปัจจุบัน พบว่าชาวบ้านแต่ละกลุ่มต่างเพิ่มจำนวนและคัดค้านอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้กล่าวอ้างว่า “บางหมู่บ้านแตกกันขนาดไม่ยอมทำบุญร่วมวัดกัน” นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่าข้อมูลที่แต่ละฝ่ายถืออยู่นั้นถูกต้องหรือเชื่อถือได้ขนาดไหน.

ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ได้แก่ บริษัทผู้รับเหมา Asia Pacific Potash Corporation ซึ่งมีบริษัท Asia Pacific Resources (APR) จากประเทศแคนาดาเป็นบริษัทแม่และถือหุ้นร้อยละ 90 ของการทำเหมืองโปแตชที่จังหวัดอุดรธานี (รัฐบาลไทยถือหุ้นร้อยละ 10). ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ผลิตเอกสารประชาสัมพันธ์ให้เห็นคุณอนันต์และประโยชน์มหันต์ของการทำเหมืองแร่โปแตช โดยเฉพาะในแง่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมในการออกหน่วยแพทย์เพื่อให้การตรวจรักษาฟรีแก่ชาวบ้าน การสนับสนุนงาน บุญบั้งไฟ การมอบทุนการศึกษา ฯลฯ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการเอื้อเฟื้อต่อชุมชนหรือทำการประชาสัมพันธ์เฉพาะส่วนดีเท่านั้นก็ได้.

นอกจากชาวบ้านและตัวแทนเหมืองแล้ว อีกกลุ่มที่มีบทบาทไม่น้อย คือ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในพื้นที่ที่รวมตัวกันเป็น “คณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี” ซึ่งมีบทบาทมากในการระดมความคิดของชาวบ้าน รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลในเชิงสังคมทั้งหลายและการ ” ชงเรื่อง” ต่อผู้บริหารระดับต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข.

ท่านผู้อ่านน่าจะตั้งคำถามว่า แล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรทำอะไรบ้าง?

เจ้าหน้าที่สธ.
ในช่วงที่กำลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนอย่างมากนั้น ดูเหมือนว่าท่าทีของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี คือ การรับทราบความเคลื่อนไหวและรอดูท่าที มากกว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการจัดการหรือเชิงวิชาการ.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรณีเหมืองโปแตชนี้เป็นโครงการระดับชาติโครงการหนึ่งที่หลายหน่วยงานตั้งคำถามถึงความเป็น “นโยบายสาธารณะ” ที่น่าจะก่อปัญหาผลกระทบหลายด้าน แต่ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบอย่างเต็มที่ทางวิชาการก่อนดำเนินการ. ทำให้หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข 4 หน่วยงาน มีความสนใจที่จะทราบข้อมูลและร่วมเคลื่อนไหวใน พื้นที่ ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานปฏิรูประบบบริการสุขภาพ (สปรส.) กองสุขาภิบาลและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัยและสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค. โดย 3 หน่วยงานแรกได้ร่วมกันประเมินการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตามหลักการของการทำ HIA ที่ยอมรับกันเป็นสากล เช่น การรับรู้ข่าวสาร การเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น การยื่นข้อเสนอค้านการให้สัมปทานโดยองค์กรปกครอง ท้องถิ่น เป็นต้น. ขณะที่หน่วยงานหลังให้ความสนใจในการเตรียมการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในแง่ทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น จะเกิดการปนเปื้อนอะไรบ้างในสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองซึ่งอาจมีผลต่อสุขภาพ มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่มากน้อยเท่าใดในพื้นที่ทำเหมือง เป็นต้น.

เนื่องจากผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของกรมควบคุมโรค จึงจะขออธิบายโดยสังเขปว่าได้มีการเคลื่อนไหวอะไรบ้างของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามแนวทางของกรมควบคุมโรค. การดำเนินการเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงของกรมควบคุมโรค เยี่ยมพื้นที่ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 และเข้าพบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ตั้งแต่สถานีอนามัยในพื้นที่ทำเหมือง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 (ขอนแก่น) เพื่อหาแนวทางในการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่.

จากนั้นได้มีการบรรยายและเสวนาในกลุ่มเจ้าหน้าที่หลายครั้งเพื่อทำให้เกิดแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในลักษณะก่อนเกิดเหตุการณ์อันจะประกอบด้วย การนำข้อมูลด้านการทำเหมืองจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มาทำ mapping เพื่อระบุพื้นที่ที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมือง และการเก็บข้อมูลสุขภาพพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับผลกระทบต่อสุขภาพอันอาจจะเกิดขึ้น เช่น ถ้าคิดว่าประชาชนที่เป็นโรคไตหรือความดันเลือดสูงจากการได้รับเกลือที่ปนเปื้อนในน้ำ อากาศ หรือดิน ก็น่าที่จะทราบว่า ณ เวลานี้ที่ยังไม่มีการสร้างเหมือง มีประชากรกลุ่มเสี่ยงนี้ในพื้นที่จำนวนกี่คนมีความรุนแรงของโรคเพียงใด เป็นต้น.

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ได้มีการประชุมร่วมกันครั้งที่ 1 ระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ อุตสาหกรรมจังหวัด สาธารณสุขทุกระดับ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 (อุดรธานี) เพื่อออกแบบการเก็บข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และได้มีการประชุมร่วมกันครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยของ 11 ตำบลที่อยู่ในพื้นที่ทำเหมืองและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีได้ไปเก็บมาและได้มีการวางแผนในการเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องในระยะยาว. รวมทั้งแผนการทำงานร่วมกับประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งในพื้นที่อีกด้วย.

หวังว่าท่านผู้อ่านคง ” เห็นภาพ” ขึ้นบ้างว่าการพยายามเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น และถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามมากในการดำเนินการแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก็มีศักยภาพหากได้รับการสนับสนุนและมีเครือข่ายการทำงานที่ชัดเจน. ผู้เขียนคิดว่าไม่ว่าจะเกิดการทำเหมืองหรือไม่ก็ตามเจ้าหน้าที่แถบอุดรธานีก็จะมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพประชาชน.

*พระราชบัญญัติแร่ ( พ.ศ.2545)
**ปุ๋ยสูตรเคมีที่ใส่ต้นไม้ ประกอบด้วยแร่ธาตุ 3 ตัวคือ N-P-K หรือ ไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม

เอกสารอ้างอิง
1. United Nations Environmental Program. Division of Technology Industry and Economics. International Fertilizer Industry Association. ” Environmental Aspects of Phosphorus and Potash Mining” Dec 2001. (ISBN 92-8-7-2052-X)

ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ., DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, E-mail address

Leave a comment