เหมืองโปแตชใกล้ความเป็นจริง

เหมืองโปแตชใกล้ความเป็นจริง

——————————————————————————–

วันศุกร์ ที่ 23 ธ.ค. 2554 Photo
กรุงเทพฯ 24 ธ.ค.-นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบรางวัลประจำปีของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 2554 แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับรางวัลรวม 67 ราย ใน 3 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย รางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว รางวัลมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการพัฒนาความเป็นเลิศของงานด้านโลจิสติกส์ในการประกอบการ

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแร่ต้องอยู่ในศีล ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติดี คิดดี ทำดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสังคม พร้อมกันนี้ต้องนำหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพัฒนาองค์กรของตนเอง เพื่อยกระดับเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการโดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหมืองแร่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 56,000 ล้านบาท รัฐบาลเก็บค่าภาคหลวงได้ปีละ 1,300 ล้านบาท สำหรับปี 55 คาดว่าจะมีแนวโน้มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมูลค่าการจัดเก็บค่าภาคหลวงที่สูงกว่าปีนี้

นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่โปแตชมากติดอันดับโลกล่าสุดราคาสูงถึงตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 5 ราย จากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตช เช่น จากจีนสนใจเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตชในไทย เพราะจีนต้องการแร่โปแตชมากถึงปีละ 8 ล้านตัน อาเซียนต้องการ 5 ล้านตัน/ปี อินเดีย 6 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันมีผู้เดินหน้าขอประทานบัตรแล้ว 2 ราย คือ บริษัทเหมืองโปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ลงทุนที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งพื้นที่นี้ไม่มีการคัดค้านจากประชาชน จึงเตรียมที่จะเดินหน้าทำเหมืองใต้ดินพื้นที่ 15,000 ไร่ โดยการรังวัดพื้นที่เสร็จแล้วเมื่อเดือนตุลาคมปี 53 ซึ่งต้นปีหน้าจะเห็นรายละเอียดทางด้านเทคนิค ซึ่งฝั่งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับเงินกองทุนเพื่อจ้างนักวิชาการเข้าไปตรวจสอบทางเทคนิคด้วย เพราะหากเทคนิคไม่ผ่านเหมืองโปแตชก็เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนอีกแห่งคือที่ จ.อุดรธานี บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ของกลุ่มอิตาเลียนไทย จะทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินพื้นที่ 26,000 ไร่ มีประชาชนคัดค้าน คาดว่าจะมีการรังวัดเกิดขึ้นในอีก 5 เดือนข้างหน้า ด้วยระบบดาวเทียม (GPS) เพื่อน้ำไปสู่การขอประทานบัตรต่อไป

ทั้งนี้ กพร.ขอให้มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เพิ่มเติม นอกจากการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมาตรการดูแลเหล่านี้ หากไม่ผ่านโครงการเหมืองโปแตชก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนกระบวนการออกประทานบัตรต้องใช้เวลาประมาณ 500 วันนับจากรังวัดพื้นที่.-สำนักข่าวไทย

Leave a comment